วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อุปสงค์ อุปทาน

อุปสงค์ อุปทาน

ความหมายของอุปสงค์

    Baumol (อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 21) กล่าวว่า อุปสงค์ (demand) หมายถึง ความต้องการของประชาชนที่จะซื้อสินค้าและบริการในราคาที่กำหนดและสามารถซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและกำลังซื้อของแต่ละบุคคล เช่น นายสมชายต้องการจะซื้อรถยนต์ แต่ไม่มีเงินซื้อก็จะเป็นเพียงความต้องการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้านายสมชายมีเงินซื้อรถได้ ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นความต้องการที่แท้จริงในทางเศรษฐศาสตร์ และเรียกว่า อุปสงค์ที่มีประสิทธิผล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อุปสงค์”

    Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 22) กล่าวว่า อุปสงค์ หมายถึง จำนวนต่าง ๆ ของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าชนิดนั้น ในระยะเวลาที่กำหนด

ประเภทของอุปสงค์

     อุปสงค์ในสินค้าและบริการโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (Baumol อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 21-23) 
1. อุปสงค์แต่ละบุคคล คือ ความต้องการของแต่ละบุคคล ที่จะซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายหรือผู้ผลิต ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง
2. อุปสงค์รวม คือ ความต้องการในสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลหลาย ๆ คน ในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ดังนั้นลักษณะอุปสงค์รวมนี้จึงถูกเรียกอีกอย่างว่า อุปสงค์ของตลาด

ตัวกำหนดอุปสงค์

     ตัวกำหนดอุปสงค์ (demand determinants) ซึ่ง Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 26-27) ได้กล่าวถึง ตัวกำหนดอุปสงค์ หมายถึง ตัวแปร (variables) หรือปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อจำนวนสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อปริมาณซื้อ (quantity demanded) มากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคนและกาลเวลา ปัจจัยเหล่านี้มีหลายอย่างดังนี้

     1. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับราคาของสินค้านั้น ตามปกติเมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นปริมาณซื้อจะมีน้อย แต่ถ้าราคาลดต่ำลงปริมาณซื้อจะมีมาก

     2. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภคและความนิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม รสนิยมอาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนิยมชอบชั่วขณะหนึ่งซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่น แบบเสื้อสตรี ภาพยนตร์ และเทปเพลง เป็นต้น แต่บางกรณีความนิยมนั้นก็คงอยู่นาน เช่น รูปแบบของสิ่งก่อสร้าง รถยนต์ และน้ำอัดลม เป็นต้น สิ่งที่กำหนดรสนิยมของผู้บริโภค ได้แก่ อายุ เพศ ความเชื่อ ค่านิยม การศึกษา แฟชั่น และอิทธิพลของการโฆษณารสนิยมเป็นสิ่งที่มีผลต่อธุรกิจการค้า ดังนั้นหน่วยธุรกิจจึงยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาล
โฆษณาเพื่อหวังผลในการเปลี่ยนแปลงรสนิยม หรือมิฉะนั้น ก็เพื่อรักษารสนิยมของ
ผู้บริโภคให้คงเดิมนั้นเอง

     3. ปริมาณการซื้ออยู่กับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน โดยทั่วไปเมื่อประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการจะเปลี่ยนไป คือมักจะลดการบริโภคสินค้าราคาถูกและขณะเดียวกันก็หันไปบริโภคสินค้าราคาแพง

     4. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามปกติความต้องการของผู้บริโภคอาจสนองได้ด้วยสินค้าหลายชนิด ถ้าสินค้าชนิดหนึ่งมีราคาสูงขึ้นผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้าชนิดนั้นน้อยลง และหันไปซื้อสินค้าอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้ทดแทนกันได้สำหรับในกรณีของสินค้าที่ต้องใช้ประกอบกัน เช่น น้ำตาลกับกาแฟ เป็นต้น เมื่อผู้บริโภคต้องการบริโภคกาแฟมากขึ้นก็จะต้องบริโภคน้ำตาลมากขึ้นด้วย

     5. ปริมาณการซื้อขึ้นอยู่กับฤดูกาล ยกตัวอย่างในประเทศที่อยู่ในเขตหนาว เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว ประชาชนจำเป็นต้องจัดหาเครื่องนุ่มห่มกันหนาว ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องกันหนาวต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น




ความหมายของอุปทาน
     Baumol (อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 27) กล่าวว่า อุปทาน หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายนำออกมาขายในตลาดตามราคาที่กำหนด อุปทานของสินค้าและบริการชนิดใดก็ตามจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็น ราคาของสินค้าที่ทำให้ผู้ผลิตพอใจที่จะนำออกมาขาย ปัจจัยการผลิตทุกประเภท สภาพอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอื่น ๆ โดยผู้ผลิตจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ ว่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตหรือการนำออกมาจำหน่ายหรือไม่เพียงใด

     Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 32) กล่าวว่า อุปทาน หมายถึง จำนวนต่าง ๆ ของสินค้าหรือบริการนั้น ที่ผู้ผลิตมีความเต็มใจที่จะผลิตและนำออกขายณ ระดับราคาต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด


ประเภทของอุปทาน

     อุปทานก็เช่นเดียวกับอุปสงค์ที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (Baumol อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 27-29)
1. อุปทานแต่ละบุคคล คือ ปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายแต่ละคนหรือแต่ละบริษัทนำออกมาขายในระดับราคาต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
2. อุปทานรวม คือ ปริมาณสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายหลายคนนำออกมาจำหน่ายในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ในระดับราคาต่างๆ ของช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง


ตัวกำหนดอุปทาน (supply determinats) 

     ตัวกำหนดอุปทาน หหมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการที่จะผลิตขาย นอกจากราคาสินค้าที่เป็นตัวกำหนดโดยตรงแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ถือเป็นตัวกำหนดโดยอ้อม ดังนี้ (Begg อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 34)
1. นโยบายหรือจุดมุ่งหมายของการผลิต โดยทั่วไปจุดมุ่งหมายของหน่วยผลิต คือ มุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาต่ำหรือปานกลาง เพื่อขายให้ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีจำนวนมาก หรือมุ่งผลิตสินค้าที่เน้นลักษณะจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

2. สภาพเทคนิคที่ใช้ในการผลิต เมื่อวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตได้มากขึ้น ก็จะมีสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มมาก
ขึ้นเป็นเงาตามตัว

3. ราคาของสินค้าอื่น เมื่อสินค้าชนิดหนึ่งมีราคาสูงขึ้นย่อมจูงใจให้ผู้ผลิตทำการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตหวังกำไรเป็นสำคัญ

4. ราคาของปัจจัยการผลิต หากราคาของปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นย่อมได้กำไรลดลง

5. จำนวนของผู้ผลิตหรือผู้ขายในตลาด ในกรณีที่ตลอดมีผู้ผลิตจำนวนมากปริมาณขายทั้งหมดในตลาดย่อมจะมีมากกว่าในกรณีที่ตลาดมีผู้ขายรายเดียว เพราะตลาดแบบนี้อาจไม่น่าสนใจในการเพิ่มปริมาณขายเท่าที่ควร แต่หันไปมุ่งในแง่ตั้งราคาขายให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ทั้งนี้เนื่องจากมีอำนาจผูกขาดแต่ไม่ต้องกังวลกับคู่แข่ง

6. ตัวกำหนดอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่ออุปทานมีมากมาย แบ่งเป็นตัวกำหนดที่เกิดจากมนุษย์ อาทิ การนัดหยุดงาน สงคราม การออกกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเก่า และ ตัวกำหนดที่มิใช่เกิดจากมนุษย์ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น





บรรณานุกรม
1. กาญจนา จันทร์เจ็ก. (2549, หน้า 28-32). ประเทศไทยกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านชายแดน: ศึกษาเฉพาะกรณีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2. ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล. (2546). เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เอมพันธ์.
3. วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน. (2545). เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น