วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปรัชญาของหลักสูตร
            หลักสูตรบัญชีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ และทักษะด้านบัญชี ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในสายนั้นๆ โดยมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความสามารถในเชิงทฤษฏีและปฏิบัติ ตลอดจนสามารถนำเทคโนโลยีทางด้านการจัดระบบสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้กับวิชาชีพงานบัญชี งานตรวจสอบภายใน งานสอบบัญชีและงานบัญชีเพื่อการบริหาร ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถไปทำงานในหน้าที่พนักงานบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชีภาษีอากร เป็นต้น
สนองตอบความต้องการของสังคมในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามประกาศของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมบริการ จะมีความรู้ความสามารถ มีคุณสมบัติและคุณลักษณะ ดังนี้
1.      มีความรู้และทักษะด้านบัญชี สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และแก้ปัญหาในงาน วิชาชีพได
2.      มีโลกทัศน์กว้าง มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพภายใต้ จิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม


คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
การรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมบริการ รับนักศึกษาไทย โดยมีคุณสมบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พ.ศ.2547 หมวดที่ 2 ข้อ 5 หรือกรณีหลักสูตรเทียบโอนจะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอนุปริญญา พ.ศ.2548 และเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ.2548 ดังนี้
1.      เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าหรือผู้ที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้สมัครได้
2.      เป็นผู้สำเร็จการศึกษาสาขาทางด้านบริหารธุรกิจ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือเทียบเท่า หรือระดับอนุปริญญา (3 ปี) หรือเทียบเท่า ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย หรือตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอนุปริญญา พ.ศ. 2548
3.      ไม่เป็นคนวิกลจริต และเป็นผู้ไม่มีโรคติดต่ออย่างร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจ และโรคที่จะเบียดเบียนหรือขัดขวางต่อการศึกษา
4.      ไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษในคดีอาญาตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้รับโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดทีได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
5.      ไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากสถาบันอุดมศึกษา เพราะมีกรณีทำความผิดทางวินัยคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อุปสงค์ อุปทาน

อุปสงค์ อุปทาน

ความหมายของอุปสงค์

    Baumol (อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 21) กล่าวว่า อุปสงค์ (demand) หมายถึง ความต้องการของประชาชนที่จะซื้อสินค้าและบริการในราคาที่กำหนดและสามารถซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและกำลังซื้อของแต่ละบุคคล เช่น นายสมชายต้องการจะซื้อรถยนต์ แต่ไม่มีเงินซื้อก็จะเป็นเพียงความต้องการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้านายสมชายมีเงินซื้อรถได้ ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นความต้องการที่แท้จริงในทางเศรษฐศาสตร์ และเรียกว่า อุปสงค์ที่มีประสิทธิผล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อุปสงค์”

    Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 22) กล่าวว่า อุปสงค์ หมายถึง จำนวนต่าง ๆ ของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น ที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าชนิดนั้น ในระยะเวลาที่กำหนด

ประเภทของอุปสงค์

     อุปสงค์ในสินค้าและบริการโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (Baumol อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 21-23) 
1. อุปสงค์แต่ละบุคคล คือ ความต้องการของแต่ละบุคคล ที่จะซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายหรือผู้ผลิต ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง
2. อุปสงค์รวม คือ ความต้องการในสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลหลาย ๆ คน ในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ดังนั้นลักษณะอุปสงค์รวมนี้จึงถูกเรียกอีกอย่างว่า อุปสงค์ของตลาด

ตัวกำหนดอุปสงค์

     ตัวกำหนดอุปสงค์ (demand determinants) ซึ่ง Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 26-27) ได้กล่าวถึง ตัวกำหนดอุปสงค์ หมายถึง ตัวแปร (variables) หรือปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อจำนวนสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ปัจจัยเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อปริมาณซื้อ (quantity demanded) มากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคนและกาลเวลา ปัจจัยเหล่านี้มีหลายอย่างดังนี้

     1. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับราคาของสินค้านั้น ตามปกติเมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นปริมาณซื้อจะมีน้อย แต่ถ้าราคาลดต่ำลงปริมาณซื้อจะมีมาก

     2. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภคและความนิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม รสนิยมอาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนิยมชอบชั่วขณะหนึ่งซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่น แบบเสื้อสตรี ภาพยนตร์ และเทปเพลง เป็นต้น แต่บางกรณีความนิยมนั้นก็คงอยู่นาน เช่น รูปแบบของสิ่งก่อสร้าง รถยนต์ และน้ำอัดลม เป็นต้น สิ่งที่กำหนดรสนิยมของผู้บริโภค ได้แก่ อายุ เพศ ความเชื่อ ค่านิยม การศึกษา แฟชั่น และอิทธิพลของการโฆษณารสนิยมเป็นสิ่งที่มีผลต่อธุรกิจการค้า ดังนั้นหน่วยธุรกิจจึงยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาล
โฆษณาเพื่อหวังผลในการเปลี่ยนแปลงรสนิยม หรือมิฉะนั้น ก็เพื่อรักษารสนิยมของ
ผู้บริโภคให้คงเดิมนั้นเอง

     3. ปริมาณการซื้ออยู่กับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน โดยทั่วไปเมื่อประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการจะเปลี่ยนไป คือมักจะลดการบริโภคสินค้าราคาถูกและขณะเดียวกันก็หันไปบริโภคสินค้าราคาแพง

     4. ปริมาณซื้อขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามปกติความต้องการของผู้บริโภคอาจสนองได้ด้วยสินค้าหลายชนิด ถ้าสินค้าชนิดหนึ่งมีราคาสูงขึ้นผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้าชนิดนั้นน้อยลง และหันไปซื้อสินค้าอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้ทดแทนกันได้สำหรับในกรณีของสินค้าที่ต้องใช้ประกอบกัน เช่น น้ำตาลกับกาแฟ เป็นต้น เมื่อผู้บริโภคต้องการบริโภคกาแฟมากขึ้นก็จะต้องบริโภคน้ำตาลมากขึ้นด้วย

     5. ปริมาณการซื้อขึ้นอยู่กับฤดูกาล ยกตัวอย่างในประเทศที่อยู่ในเขตหนาว เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว ประชาชนจำเป็นต้องจัดหาเครื่องนุ่มห่มกันหนาว ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องกันหนาวต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น




ความหมายของอุปทาน
     Baumol (อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 27) กล่าวว่า อุปทาน หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายนำออกมาขายในตลาดตามราคาที่กำหนด อุปทานของสินค้าและบริการชนิดใดก็ตามจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็น ราคาของสินค้าที่ทำให้ผู้ผลิตพอใจที่จะนำออกมาขาย ปัจจัยการผลิตทุกประเภท สภาพอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอื่น ๆ โดยผู้ผลิตจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ ว่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตหรือการนำออกมาจำหน่ายหรือไม่เพียงใด

     Begg (อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 32) กล่าวว่า อุปทาน หมายถึง จำนวนต่าง ๆ ของสินค้าหรือบริการนั้น ที่ผู้ผลิตมีความเต็มใจที่จะผลิตและนำออกขายณ ระดับราคาต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด


ประเภทของอุปทาน

     อุปทานก็เช่นเดียวกับอุปสงค์ที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (Baumol อ้างถึงใน ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล, 2546, หน้า 27-29)
1. อุปทานแต่ละบุคคล คือ ปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายแต่ละคนหรือแต่ละบริษัทนำออกมาขายในระดับราคาต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
2. อุปทานรวม คือ ปริมาณสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายหลายคนนำออกมาจำหน่ายในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง ในระดับราคาต่างๆ ของช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง


ตัวกำหนดอุปทาน (supply determinats) 

     ตัวกำหนดอุปทาน หหมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการที่จะผลิตขาย นอกจากราคาสินค้าที่เป็นตัวกำหนดโดยตรงแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ถือเป็นตัวกำหนดโดยอ้อม ดังนี้ (Begg อ้างถึงใน วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2545, หน้า 34)
1. นโยบายหรือจุดมุ่งหมายของการผลิต โดยทั่วไปจุดมุ่งหมายของหน่วยผลิต คือ มุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาต่ำหรือปานกลาง เพื่อขายให้ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีจำนวนมาก หรือมุ่งผลิตสินค้าที่เน้นลักษณะจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

2. สภาพเทคนิคที่ใช้ในการผลิต เมื่อวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตได้มากขึ้น ก็จะมีสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มมาก
ขึ้นเป็นเงาตามตัว

3. ราคาของสินค้าอื่น เมื่อสินค้าชนิดหนึ่งมีราคาสูงขึ้นย่อมจูงใจให้ผู้ผลิตทำการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตหวังกำไรเป็นสำคัญ

4. ราคาของปัจจัยการผลิต หากราคาของปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นย่อมได้กำไรลดลง

5. จำนวนของผู้ผลิตหรือผู้ขายในตลาด ในกรณีที่ตลอดมีผู้ผลิตจำนวนมากปริมาณขายทั้งหมดในตลาดย่อมจะมีมากกว่าในกรณีที่ตลาดมีผู้ขายรายเดียว เพราะตลาดแบบนี้อาจไม่น่าสนใจในการเพิ่มปริมาณขายเท่าที่ควร แต่หันไปมุ่งในแง่ตั้งราคาขายให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ทั้งนี้เนื่องจากมีอำนาจผูกขาดแต่ไม่ต้องกังวลกับคู่แข่ง

6. ตัวกำหนดอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่ออุปทานมีมากมาย แบ่งเป็นตัวกำหนดที่เกิดจากมนุษย์ อาทิ การนัดหยุดงาน สงคราม การออกกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเก่า และ ตัวกำหนดที่มิใช่เกิดจากมนุษย์ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น





บรรณานุกรม
1. กาญจนา จันทร์เจ็ก. (2549, หน้า 28-32). ประเทศไทยกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านชายแดน: ศึกษาเฉพาะกรณีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2. ไพรินทร์ แย้มจินดา และวรรณา ทองเจริญศิริกุล. (2546). เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เอมพันธ์.
3. วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน. (2545). เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทำไมจะต้องจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดมุกดาหาร


ทำไมจะต้องจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดมุกดาหาร

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และ วัฒนธรรม (๓) “พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม...” จะเห็นว่าตามรัฐธรรมดังกล่าวรัฐจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดมุกดาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการเปิดใช้โดยสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ (จังหวัดมุกดาหาร –แขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงในทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่ชายแดน เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๙ ของ สปป. ลาว แขวงสะหวันนะเขต ไปเชื่อมต่อกับเวียดนามตอนกลางที่มีหัวเมืองสำคัญของเวียดนาม คือ เมืองกวางตรี เมืองเว้ (เมืองเก่า) และเมืองดานัง อีกทั้ง จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา “ส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค” ดังนั้น จังหวัดมุกดาหารน่าจะสามารถเป็นเมืองการศึกษาเพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคได้ เพราะจังหวัดมุกดาหารสามารถเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม จีน โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอายุเกือบประมาณ ๒๐ ปี และมีวิสัยทัศน์ “เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ที่เน้นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตและประชาชนบนฐานภูมิปัญญาของอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตและประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้นมีพื้นที่ของจังหวัดมุกดาหารรวมอยู่ด้วย เพื่อทำให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้มีการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร โดยได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเริ่มแรกเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และวันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๔๘ ได้รับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร มีการดำเนินงานในรูปแบบของ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี” โดยใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และต่อมาวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จังหวัดมุกดาหารได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่โดยมอบอาคารหลังเก่าของโรงเรียนมุกดาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการปรับปรุงสำหรับการขยายการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาการบัญชี และเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ ได้อนุมัติเงินสำรองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้ปรับปรุงอาคารหลังเก่าโรงเรียนมุกดาลัย จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดรับอาจารย์และเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จำนวน ๔ อัตราและได้แต่งตั้ง ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่บริหารงานและประสานงานการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (โดยมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนจากหน่วยงานจังหวัดมุกดาหาร และคณบดีคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีกับโรงเรียนมุกดาลัย) ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และได้ขอความเห็นชอบในการใช้
พื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวนพื้นที่ป่าไม้เนื้อที่ประมาณ ๑,๑๓๔ ไร่ เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหารหลังจากนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประชุมร่วมกับ ตัวแทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ศ.พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัย) และ ตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) รักษาการผู้อำนวยการกองแผนงาน (นายธีระศักดิ์ เชียงแสน) และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์) เดินทางตรวจพื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร ซึ่งต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบการใช้พื้นที่ป่าไม้ ณ บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อนุมัติข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการบริหารวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จะเห็นว่าการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน นั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินการด้วยความตั้งใจจริงและเป็นขั้นตอนเพื่อให้จังหวัดมุกดาหารมีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีที่สามารถทำให้ลูกหลานชาวจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นพร้อมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดมุกดาหารจะมีทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ )ได้ถวายรายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งถวายรายงานการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และมีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ต่อไป นอกจากนั้น เมื่อวันพุธที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เรียนเชิญผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ดูงานการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตมุกดาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ภูผาเจี้ย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจะก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยอาคารดังกล่าวมีเอกลักษณ์บางส่วน ประกอบด้วย เช่น พื้นที่ส่วนกลางขนาด ๑๒๐ x ๑๒๐ เมตร เป็นจำนวน ๙ ไร่ ซึ่งหมายถึง รัชกาลที่ ๙ พื้นที่อาคาร๗ ช่วงอาคาร ซึ่งหมายถึง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ พื้นที่ตรงกลางอาคารมีพระฉายาลักษณ์ขนาด ๗ x ๑๒ เมตร เท่ากับ ๘๔ ตารางเมตร และพื้นที่ด้านหน้าวิทยาเขตมีพระพุทธรูป ที่ชื่อ “พระพุทธปทุมมุกดานพรัตน์” ที่มีความหมายว่า พระพุทธรูปที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ปทุม) และชาวมุกดาหาร (มุกดา) ร่วมกันถวายแด่รัชกาลที่ ๙ (นพรัตน์) เป็นต้นอย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาวิทยาเขตมุกดาหารให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัจจัยหลายๆ ประการ เช่น พื้นที่กายภาพที่เหมาะสม การให้ความร่วมมือของประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหารที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒ ที่ว่า “...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น...” และพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานแก่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๐ ที่ว่า “...ผู้ที่ได้รับการศึกษาดี การศึกษาที่สูงขึ้นย่อมจะเป็นผู้ที่มีโอกาสในการที่จะเลือกงานและเลือกวิถีการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่หมายความว่าจะมีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทางด้านการศึกษาหลายๆ หน่วยงาน...” ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหารจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของจังหวัดมุกดาหารอันจะทำให้เป็นแหล่งวิชาการเพื่อชาวลูกหลานมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ซึ่งเป็นอาคารที่จะถูกก่อสร้าง ณ พื้นที่บริเวณภูผาเจี้ย พวกเราทุกคนพร้อมใจพร้อมกายเพื่อน้อมถวายพ่อหลวงของเราที่พระองค์ท่านจะทรงพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวมุกดาหารทุกท่านจะร่วมกายใจทำให้อาคารดังกล่าวสมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน เพราะถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวมุกดาหารการเดินหน้าของวิทยาเขตมุกดาหารคงจะต้องไม่สามารถทำได้และอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการในอนาคต
สุดท้ายนี้ ขออนุญาตนำเสนอ คำว่า “MUKDAHAN” ซึ่งประกอบด้วย M = Management U = Understand K = Knowledge D = Development A = Advance H = Harmony A = Ambition N = Natural or Network ดังนั้น “MUKDAHAN CAMPUS” วิทยาเขตมุกดาหารมุ่งเน้นการจัดการความเข้าใจความรู้ด้านต่างๆ
 เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าทันสมัยที่กลมกลืนกับความปรารถนาของธรรมชาติ   บทความนี้โดย ผศ.ดร.มณูญพงศ์   ศรีวิรัตน์
เพียงเเค่เริ่มฝัน จินตนาการก็เกิดเอง

 จินตนาการ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำที่อยู่ภายในกลุ่มของ จินต- , จินต์ ซึ่งเป็นคำกริยา ที่แปลว่า คิด ส่วนคำ จินตนาการ เป็นคำนาม แปลว่าการสร้างภาพขึ้นในจิตใจ
                         ภาพที่ถูกสร้างขึ้นในจิตใจนั้น มีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่เน้นว่า มนุษย์ เพราะผู้เขียนยังไม่ได้เข้าไปศึกษาถึงการดำเนินชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ โดยภาพที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นในจิตใจนั้นมีความแตกต่าง หลากหลาย ไปตามความเข้าใจ และมองเห็นได้ของแต่ละคน ผู้เขียนเองมี ประสบการณ์ ความเข้าใจ และ มองเห็นภาพในจิตใจของตัวเองเป็นการเฉพาะ ที่จะขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้มองตามไปบ้าง จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไรนั้น ขอให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อ่านทุกท่านเอง
                         ภาพที่ถูกสร้างขึ้นในจิตใจนั้น ผู้เขียนได้แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ดังนี้
                         แบบที่ ๑ เป็นภาพเพ้อฝัน อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะไม่จริง เช่น วาดภาพว่า มีมนุษย์ที่เหาะได้จริง ๆ อย่างซุปเปอร์แมน ซึ่งมีคำตอบว่า ภาพอย่างนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ด้วยความเพ้อฝันว่ามนุษย์จะบินได้นั่นเอง ได้นำมาซึ่งการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์ขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ เหมือนบินได้จริง ๆ ภาพแบบที่ ๑ นี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Imaginary ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า จินตนาการ อยู่แล้ว
                         แบบที่ ๒ เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดยการมองไปข้างหน้า หรือในอนาคตว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อาจจะนึกขึ้นมาลอย ๆ หรือนำเหตุผลประกอบใด ๆ มาเป็นมูลฐานของการสร้างภาพก็ได้ เช่นผู้บริหารบ้านเมือง จะมองไปข้างหน้าเห็นความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศโดยถ้วนหน้ากัน ซึ่งเป็นความปรารถนาที่เป็นพื้นฐานของการกำหนดนโยบายของการบริหารประเทศ อย่างหนึ่ง ภาพที่มองเห็นในอนาคตนั้น อาจจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงก็ได้ เวลาจะนำคำตอบมาให้ ภาพแบบนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Vision ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า วิสัยทัศน์ ( โปรดอ่านรายละเอียด ความหมายของคำนี้ ใน สาระน่ารู้ โดย พ.อ.ชูเกียรติ มุ่งมิตร ที่นำเสนออยู่ใน www.rta.mi.th )
                         แบบที่ ๓ เป็นภาพที่ถูกวาดตามหลักของความเป็นจริง เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน ถ้าได้มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่นการชิปลูกกอล์ฟขึ้นกรีนให้ใกล้ธงมากที่สุด ย่อมเกิดขึ้นได้ถ้านักกอล์ฟทำได้ตามแบบฝึก แต่โดยที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงขอกล่าวถึงภาพที่นักโปรแกรมจะต้องวาดภาพขึ้นในจิตใจให้ได้ว่า จะทำอย่างไร หรือจะใช้คำสั่งอะไรบ้างของโปรแกรมมาใช้ คอมพิวเตอร์ จึงจะทำงานให้ได้อย่างที่ต้องการ ภาพแบบนี้มีผลลัพธ์แน่นอน หากปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบของวิธีการเขียนโปรแกรม ภาพแบบนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Logic ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ตรรกะ
                         บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีบทสรุป เป็นสาระน่ารู้บทหนึ่ง ที่ผู้เขียน นำมาแทรกบทความที่เขียนโดยการแปลจากแบบเรียนภาษาจีนที่นำเสนอต่อเนื่องกันมา ให้เป็นเรื่องอื่น ๆ บ้าง
 


จากพันเอก ชูเกียรติ มุ่งมิตร  รองเจ้ากรมข่าวทหารบก  
๑๗ พ.ค. ๒๕๔๕